วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรอบการเรียนรู้วิชาจินตทัศน์ ช่วงชั้น ๒ ภาคเรียนฉันทะ ปี ๕๘

โปรดกดตามลิงก์
https://docs.google.com/file/d/0B1960KkIJu28TFBiNjZJZVlSa1k/edit?usp=docslist_api

แนวทางการเรียนรู้วิชาจินตทัศน์ ปี ๕๘

แนวทางการเรียนรู้วิชาจินตทัศน์
ปีการศึกษา ๒๕๕๘

บทนำ
ความหมายของสติปัญญานั้นมีได้หลายความหมาย แต่ถ้าเรามุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์
เราจะค้นพบความหมายของคำว่า สติปัญญา ที่หมายถึง ความสามารถที่จะได้รับความรู้และความเข้าใจ รวมไปถึงความสามารถในการนำความรู้และความเข้าใจนั้นไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆกันได้ ความสามารถนี้ทำให้บุคคลแต่ละคนสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้น การรับรู้ควรจะหมายถึง    ความรู้ ความเข้าใจ และความคิด    ความสามารถในการรับรู้ จะสามารถบ่งบอกถึงขีดจำกัดในการทำความเข้าใจความรู้ ถ้าเราพัฒนาความสามารถในการรับรู้ของผู้เรียนให้มากขึ้นก็เท่ากับเราพัฒนาขีดความสามารถในการคิดได้มากขึ้นเช่นกัน
มีการกล่าวถึงทฤษฎีของการศึกษาเรื่อง การพัฒนาสติปัญญา อยู่สองทฤษฎีที่คัดค้านกันว่า สติปัญญานั้นติดตัวมาตั้งแต่เกิดและไม่สามารถพัฒนาได้ แต่อีกทฤษฎีก็คัดค้านว่า สติปัญญาสามารถพัฒนาได้ แต่ทั้งสองแนวคิดมีส่วนที่เหมือนกันตรงที่ว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ ดังนั้นถ้าผู้เรียนถูกปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอยู่เสมอ ผู้เรียนก็จะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
จินตทัศน์จึงมีเป้าหมายที่การพัฒนาการเรียนรู้และการทำความเข้าใจ (cognitive reasoning) ผ่านกระบวนการทำการบ้านเชิงโครงงานฯ และมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นพัฒนาการรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ โดยสามารถแบ่งเป็นออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆได้แก่การรับรู้เชิงรูปร่าง(perception) และการรับรู้เชิงเหตุผล(logical  reasoning) ด้วยแบบฝึกฝน การที่ผู้เรียนได้หมั่นทำแบบฝึกฝนตามพัฒนาการตามวัยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์ รวมทั้งยังสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

การพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจคือ อะไร ?
            การพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจ     คือ การที่ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอนตามพัฒนการทางวัยที่เหมาะสมจนเกิดเป็นทักษะทางปัญญาที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในอนาคตต่อไปได้ ขั้นตอนแรกของการเรียนรู้เริ่มด้วยการรับความรู้จากชุดข้อมูลด้วยการจดจำข้อมูลสำคัญนั้นให้ได้ก่อน ขั้นที่สองคือ การทำความเข้าใจจนสามารถอธิบายถึงความสำคัญนั้นได้อย่างถูกต้องด้วยภาษาของตนเอง  ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้งมีความแตกต่างตามความถนัดของผู้เรียน ขั้นที่สามผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยการอธิบายสถานการณ์ตัวอย่างของชุดข้อมูลนั้นได้อย่างลึกซึ้ง
           ขั้นที่สี่  ผู้เรียนจะคิดวิคราะห์ เปรียบเทียบ จนสามารถอธิบายข้อดี ข้อเสีย หรือจุดที่น่าสนใจของความรู้นั้นได้โดยการอธิบายได้อย่างลึกซึ้งแตกต่างกัน ถ้าขั้นที่สองของการทำความเข้าใจมีความลึกซึ้งเพียงพอเมื่อคิดวิเคราะห์ในขั้นที่สี่นี้ผู้เรียนก็สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งเช่นกัน ในขั้นนี้ค่อนข้างใช้เวลาและต้องการการชี้แนะจากครูผู้สอน รวมทั้งการเลือกใช้เครื่องมือช่วยคิดที่หมาะสม ขั้นที่ห้า คือ การตัดสินใจเลือกข้อมูลความรู้ที่ผ่านการคิดวิคราะห์แล้ว ผู้เรียนสามารถอธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกได้อย่างสมเหตุสมผล ส่วนขั้นที่หก คือ การสังเคราะห์ต่อยอดจากข้อมูลความรู้ที่เลือกมานี้เพื่อแก้ปัญหาของโจทย์ในโครงงานสังเคราะห์ต่อยอดอย่างมีความเป็นไปได้และมีความคิดสร้างสรรค์
           ผู้เรียนจะฝึกฝนขั้นตอนการพัฒนาทักษะทางปัญญาด้วยกระบวนการทำโครงงานประจำภาค โดยเริ่มต้นจากการทำการบ้านเชิงโครงงานฯ ทั้งสามข้อ การเรียงลำดับเนื้อหาในแต่ละข้อจะคำนึงถึงความสัมพันธ์กับเนื้อหาในวิชาประยุกต์ ส่วนรายละเอียดของโจทย์จะคำนึงถึงขั้นตอนการเรียนรู้ทั้งหกขั้นเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะทางปัญญา และสามารถนำไปสังเคราะห์ต่อยอดกับโครงงานต่อไปได้
          การเลือกทักษะที่สำคัญเพื่อใช้ในการทำการบ้านเชิงโครงงาน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคิดนั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระและทักษะทางปัญญาแต่ละภาคเรียนที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยในส่วนของวิชาจินตทัศน์ผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการคิดและวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือช่วยคิดที่สามารถนำไปใช้กับการบ้านเชิงโครงงานฯและโครงงานประจำภาค รวมทั้งฝึกฝนทักษะการรับรู้เพื่อทำความใจ ที่ส่งเสริมทักษะการการคิดและวิเคราะห์
         

การพัฒนาการรับรู้ คือ อะไร?
           การพัฒนาการรับรู้ คือ การที่ผู้เรียนฝึกฝนพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับรู้ เมื่อการรับรู้เพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น การรับรู้นี้ยังมีผลต่อการพัฒนาความสามารถทางด้านมิติสัมพันธ์อีกด้วย ซึ่งมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น
           การรับรู้สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ การรับรู้เชิงรูปทรงและการรับรู้เชิงเหตุผล โดยฝึกฝนผ่านแบบฝึกตามพัฒนาการตามวัยในแต่ละชั้นเรียน
           การับรู้เชิงรูปร่าง จะเป็นแบบฝึกที่กี่ยวกับการฝึกมองและทำความเข้าใจ เรื่องของภาพและพื้น การจัดระเบียบของภาพในการมองของมนุษย์ การมองหาแบบแผนและความคงที่ในภาพ เพื่อให้ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของมนุษย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพนั้นๆได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เป็นการพัฒนาหน่วยคิดจินตภาพในส่วนสมองซีกขวาของมนุษย์ที่เป็นสมรรถนะในส่วนจินตนาการ สามารถพัฒนาการคิดนอกกรอบ การคิดแนวข้างและความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย
          การรับรู้เชิงเหตุผล จะเป็นแบบฝึกที่เก่ียวกับการหาเหตุผลเชิงตรรกะในภาพหรือตัวอักษร เพื่อค้นหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในโจทย์นั้น การรับรู้เชิงเหตุผลมีการจัดเรียงลำดับความซับซ้อนตามวัยเพื่อเป็นการฝึกฝนการคิดหาเหตุผลตั้งแต่ตรรกะพื้นฐาน จนไปถึงชั้นสูง รวมทั้งแบบฝึกแบบเมตริกซ์ คือ การค้นหาเหตุผลที่ซ่อนอยู่ช่องสี่เหลี่ยม การรับรู้เชิงเหตุผลมีประโยชน์มากต่อการพัฒนาหน่วยคิดมโนทัศน์ส่วนสมองซ้ายที่เป็นสมรรถนะในการแก้ปัญหาที่ใช้เหตุผล

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

Image and concept


จินตทัศน์ 

 เครื่องมือของคนในศตวรรษที่ ๒๑

 
จินตทัศน์ เป็นหน่วยวิชาหนึ่งที่ คุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๖ คำว่า “จินตทัศน์” มาจากการรวมกันของคำสองคำคือ คำว่าจินตภาพ(Image) และ คำว่ามโนทัศน์ (Concept) เป็นหน่วยวิชาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความคิดที่เล็กที่สุดของมนุษย์ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็นภาพ และนำเสนอภาพความคิดของตนออกมาให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดร่วมกันได้ง่ายขึ้น

หากกล่าวโดยย่อจินตทัศน์ คือ การแปลงความคิดให้ “ทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและนำเสนอออกมาได้อย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราจะตีความว่าการทำความเข้าใจคือ การมองเห็น (จินตภาพ) ที่ก่อให้เกิดการทำความเข้าใจ (มโนทัศน์) อย่างรวดเร็ว แล้วนำเสนอออกมาได้อย่างลึกซึ้ง(จินตทัศน์) ก็จะเริ่มเข้าใจได้ว่าจินตทัศน์คืออะไร

การพัฒนาจินตภาพ สามารถช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดที่ซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาพแจกันของรูบิน ที่เราสามารถมองเห็นเป็นภาพแจกัน หรือเห็นหน้าของคนสองกันเข้าหากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมอง ที่เริ่มจากการหาความหมายของสิ่งที่เราเคยมีข้อมูลมาก่อน และภาพประเภทนี้ยังสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในแง่การหาความสมดุลและความสมมาตรของภาพการฝึกฝนการเขียนเส้น รูปร่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการการพัฒนาจินตภาพทั้งสิ้น

การพัฒนามโนทัศน์ คือการทำความเข้าใจเงื่อนไขที่เป็นขั้นตอนจากการมองภาพ ที่ต้องแยกให้ออกว่า เรากำลังมองเห็นส่วนใดเป็นภาพหลัก มองเห็นส่วนใดเป็นพื้นหลัง แล้วหาความหมายของภาพว่าสื่ออะไรออกมา การเริ่มต้นการหาจังหวะของภาพ หาสิ่งเชื่อมโยงในภาพ ก่อให้เกิดความสามารถในการอธิบายความคิดให้กระจ่าง ด้วยการแปลงข้อมูลออกมาเป็นผังความคิดในลักษณะต่างๆ

ในขณะเดียวกันจินตทัศน์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ด้วย เนื่องจากการเรียนในเชิงมิติสัมพันธ์นั้น ประกอบไปด้วย การมองหาเหตุผลของสิ่งที่เป็นภาพ ที่ไม่ใช้ตัวอักษรหรือภาษา (abstract reasoning) และ การหาเหตุผลของภาพที่มีมิติ (spatial reasoning)

 เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพลังของการเห็นมากยิ่งขึ้น นักเรียนยังจะได้เรียนรู้ทฤษฎีของเก๊สตอลท์ที่เกี่ยวกับจิตวิทยาของการใช้สนามของการเห็นให้เกิดประโยชน์ ซื่งเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้การจัดองค์ประกอบของภาพเพื่อการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการศึกษาต่อในเกือบทุกสาขาอาชีพ ให้สามารถมองภาพในเชิงสามมิติได้อย่างถูกต้อง


แบบฝึกอีกประเภทหนึ่งคือ การฝึก form drawing เพื่อเปิดการรับรู้ผ่านช่องทางการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้งห้า และการสื่อสารออกมาโดยใช้อวัจนะภาษา ที่เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือและฝึกมือตาสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กับการรับรู้การปรากฏขึ้นของภาพ
ทักษะที่สำคัญของหน่วยวิชาจินตทัศน์

ชั้น ๑ จังหวะ (pattern) เริ่มค้นหาความสัมพันธ์ในสิ่งที่มองเห็นและสามารนำเสนอการทำให้เกิดจังหวะได้

ชั้น ๒ สมมาตร (symmetry) สามารถปิดล้อมภาพได้อย่างสมมาตรและค้นหาความสมมาตรของสิ่งของในธรรมชาติได้

ชั้น ๓ สมดุล (balance) เริ่มต้นค้นหาความสมดุลได้และสามารถนำเสนอสิ่งที่มีความสมดุลได้

ชั้น ๔ รูปธรรม (image) และนามธรรม (concept) สามารถแยกแยะรูปธรรมและนามธรรมได้อย่างชัดเจน

ชั้น ๕ ลักษณะเด่น และลักษณะร่วม (identity) สามารถค้นหาอัตลักษณ์ได้

ชั้น ๖ การนำไปประยุกต์ใช้ (applying) สามารถนำเสนออัตลักษณ์และนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน


การบ้านเชิงโครงงาน และโครงงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” คือ พื้นที่ของโอกาสที่ผู้เรียนจะได้ใช้การคิดอย่างสร้างสรรค์(Creative Thinking) และเครื่องมือในการทำความเข้าใจและนำเสนอที่ได้เรียนรู้ไปจากวิชาจินตทัศน์อย่างเต็มที่
จินตทัศน์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการเรียนรู้ด้วยกระบวนการของโครงงาน เพราะเป็นหน่วยวิชาที่ผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ ได้ฝึกฝนการสังเคราะห์ข้อมูลและประเมินค่าข้อมูลในโครงการทุกชิ้นด้วยตนเอง พร้อมกับได้นำเสนอการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ได้อย่างเป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ถูกต้องและมีความเป็นไปได้ และในที่สุดความรู้ที่ได้เรียนรู้มาจะถูกสั่งสมในความจำระยะยาว และกลายเป็นทักษะที่นำไปใช้ได้อีกอย่างไม่มีวันลืม 
 


คุณครูเป้ - วิไลลักษณ์ ธนาบริบูรณ์

ครูหน่วยวิชาจินตทัศน์ ช่วงชั้นที่ ๒