วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

Image and concept


จินตทัศน์ 

 เครื่องมือของคนในศตวรรษที่ ๒๑

 
จินตทัศน์ เป็นหน่วยวิชาหนึ่งที่ คุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๖ คำว่า “จินตทัศน์” มาจากการรวมกันของคำสองคำคือ คำว่าจินตภาพ(Image) และ คำว่ามโนทัศน์ (Concept) เป็นหน่วยวิชาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความคิดที่เล็กที่สุดของมนุษย์ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็นภาพ และนำเสนอภาพความคิดของตนออกมาให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดร่วมกันได้ง่ายขึ้น

หากกล่าวโดยย่อจินตทัศน์ คือ การแปลงความคิดให้ “ทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและนำเสนอออกมาได้อย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราจะตีความว่าการทำความเข้าใจคือ การมองเห็น (จินตภาพ) ที่ก่อให้เกิดการทำความเข้าใจ (มโนทัศน์) อย่างรวดเร็ว แล้วนำเสนอออกมาได้อย่างลึกซึ้ง(จินตทัศน์) ก็จะเริ่มเข้าใจได้ว่าจินตทัศน์คืออะไร

การพัฒนาจินตภาพ สามารถช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดที่ซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาพแจกันของรูบิน ที่เราสามารถมองเห็นเป็นภาพแจกัน หรือเห็นหน้าของคนสองกันเข้าหากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมอง ที่เริ่มจากการหาความหมายของสิ่งที่เราเคยมีข้อมูลมาก่อน และภาพประเภทนี้ยังสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในแง่การหาความสมดุลและความสมมาตรของภาพการฝึกฝนการเขียนเส้น รูปร่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการการพัฒนาจินตภาพทั้งสิ้น

การพัฒนามโนทัศน์ คือการทำความเข้าใจเงื่อนไขที่เป็นขั้นตอนจากการมองภาพ ที่ต้องแยกให้ออกว่า เรากำลังมองเห็นส่วนใดเป็นภาพหลัก มองเห็นส่วนใดเป็นพื้นหลัง แล้วหาความหมายของภาพว่าสื่ออะไรออกมา การเริ่มต้นการหาจังหวะของภาพ หาสิ่งเชื่อมโยงในภาพ ก่อให้เกิดความสามารถในการอธิบายความคิดให้กระจ่าง ด้วยการแปลงข้อมูลออกมาเป็นผังความคิดในลักษณะต่างๆ

ในขณะเดียวกันจินตทัศน์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ด้วย เนื่องจากการเรียนในเชิงมิติสัมพันธ์นั้น ประกอบไปด้วย การมองหาเหตุผลของสิ่งที่เป็นภาพ ที่ไม่ใช้ตัวอักษรหรือภาษา (abstract reasoning) และ การหาเหตุผลของภาพที่มีมิติ (spatial reasoning)

 เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพลังของการเห็นมากยิ่งขึ้น นักเรียนยังจะได้เรียนรู้ทฤษฎีของเก๊สตอลท์ที่เกี่ยวกับจิตวิทยาของการใช้สนามของการเห็นให้เกิดประโยชน์ ซื่งเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้การจัดองค์ประกอบของภาพเพื่อการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการศึกษาต่อในเกือบทุกสาขาอาชีพ ให้สามารถมองภาพในเชิงสามมิติได้อย่างถูกต้อง


แบบฝึกอีกประเภทหนึ่งคือ การฝึก form drawing เพื่อเปิดการรับรู้ผ่านช่องทางการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้งห้า และการสื่อสารออกมาโดยใช้อวัจนะภาษา ที่เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือและฝึกมือตาสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กับการรับรู้การปรากฏขึ้นของภาพ
ทักษะที่สำคัญของหน่วยวิชาจินตทัศน์

ชั้น ๑ จังหวะ (pattern) เริ่มค้นหาความสัมพันธ์ในสิ่งที่มองเห็นและสามารนำเสนอการทำให้เกิดจังหวะได้

ชั้น ๒ สมมาตร (symmetry) สามารถปิดล้อมภาพได้อย่างสมมาตรและค้นหาความสมมาตรของสิ่งของในธรรมชาติได้

ชั้น ๓ สมดุล (balance) เริ่มต้นค้นหาความสมดุลได้และสามารถนำเสนอสิ่งที่มีความสมดุลได้

ชั้น ๔ รูปธรรม (image) และนามธรรม (concept) สามารถแยกแยะรูปธรรมและนามธรรมได้อย่างชัดเจน

ชั้น ๕ ลักษณะเด่น และลักษณะร่วม (identity) สามารถค้นหาอัตลักษณ์ได้

ชั้น ๖ การนำไปประยุกต์ใช้ (applying) สามารถนำเสนออัตลักษณ์และนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน


การบ้านเชิงโครงงาน และโครงงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” คือ พื้นที่ของโอกาสที่ผู้เรียนจะได้ใช้การคิดอย่างสร้างสรรค์(Creative Thinking) และเครื่องมือในการทำความเข้าใจและนำเสนอที่ได้เรียนรู้ไปจากวิชาจินตทัศน์อย่างเต็มที่
จินตทัศน์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการเรียนรู้ด้วยกระบวนการของโครงงาน เพราะเป็นหน่วยวิชาที่ผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ ได้ฝึกฝนการสังเคราะห์ข้อมูลและประเมินค่าข้อมูลในโครงการทุกชิ้นด้วยตนเอง พร้อมกับได้นำเสนอการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ได้อย่างเป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ถูกต้องและมีความเป็นไปได้ และในที่สุดความรู้ที่ได้เรียนรู้มาจะถูกสั่งสมในความจำระยะยาว และกลายเป็นทักษะที่นำไปใช้ได้อีกอย่างไม่มีวันลืม 
 


คุณครูเป้ - วิไลลักษณ์ ธนาบริบูรณ์

ครูหน่วยวิชาจินตทัศน์ ช่วงชั้นที่ ๒